สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ได้ดำเนินการก่อสร้างหอดูดาวแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯ เพื่อเป็นศูนย์กลางการวิจัยด้านดาราศาสตร์ของประเทศ รองรับการติดตั้งกล้องโทรทรรศน์ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2.4 เมตรพร้อมระบบโดมอัตโนมัติ ณ สถานีทวนสัญญาณ ทีโอที (กม.44.4) อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ ที่ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 2,457 เมตร ใช้งบประมาณในการก่อสร้างทั้งสิ้น 39.5 ล้านบาท และในช่วงปีงบประมาณ พ.ศ.2549 – 2552 ได้รับงบประมาณในการจัดซื้อกล้องโทรทรรศน์ 2.4 เมตร จำนวนทั้งสิ้น 228.32 ล้านบาท
หอดูดาวแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯ อยู่ระหว่างการดำเนินงานก่อสร้าง และคาดว่าจะเปิดใช้งานประมาณปลายปี 2554
นอกจากนี้ ยังมีศูนย์สารสนเทศและฝึกอบรมทางดาราศาสตร์ บริเวณที่ทำการอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ (กม.31) เพื่อใช้เป็นห้องควบคุมการทำงานและโรงซ่อมบำรุงรักษากล้องโทรทรรศน์เป็นที่ปฏิบัติงานของนักดาราศาสตร์ เป็นสถานที่ในการให้บริการข้อมูลสารสนเทศทางดาราศาสตร์สำหรับประชาชนรวมถึงเป็นสถานที่ในการจัดค่ายฝึกอบรมทางดาราศาสตร์
คัดลอกจาก สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) http://www.narit.or.th
ความเป็นมา/หลักการและเหตุผล
ในปี 2547 กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้เสนอโครงการจัดตั้ง สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เพื่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาในโอกาสฉลองสมโภช 200 ปี แห่งการพระราชสมภพพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย ในวโรกาสทรงพระเจริญพระชนมพรรษา 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2552 ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติ เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2547 เห็นชอบในหลักการโครงการจัดตั้งสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ตามที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเสนอ
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ได้ดำเนินโครงการก่อสร้างหอดูดาวแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯ ณ สถานีทวนสัญญาณ ทีโอที (กม.44.4) อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ เพื่อรองรับการติดตั้งกล้องโทรทรรศน์ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2.4 เมตรพร้อมระบบโดมอัตโนมัติ พื้นที่ดังกล่าว มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 2,457 เมตร พิกัดที่ 18? 34’ 21’’ N และ 98? 29’ 07’’E โดยมีพื้นที่ทั้งสิ้น 798 ตารางเมตร ซึ่งบริเวณดังกล่าวมีความเหมาะสมดังนี้
(1) มีทัศนวิสัยที่เหมาะสมอย่างยิ่งต่อการสังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์
(2) สามารถเชื่อมต่อสัญญาณกับศูนย์บริการสารสนเทศและฝึกอบรมทางดาราศาสตร์ ณ บริเวณที่ทำการอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ (ก.ม. 31) ซึ่งก่อสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้วและจะเป็นสถานีรับสัญญาณจากกล้องโทรทรรศน์ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2.4 เมตร
(3) เป็นพื้นที่ที่ใช้งานอยู่แล้ว โดยมีอาคารและเสาสัญญาณของ บริษัท ที.โอ.ที. จำกัด (มหาชน) อยู่ในบริเวณดังกล่าวแล้ว
(4) เป็นบริเวณที่มีรั้วรอบขอบชิด ไม่มีต้นไม้ขึ้นในบริเวณนั้นและอยู่ห่างจากถนนใหญ่ ไม่รบกวนทัศนียภาพและไม่ต้องตัดต้นไม้ หากมีการสร้างหอดูดาวในบริเวณนั้น
พื้นที่บริเวณดังกล่าวอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ อันเป็นพื้นที่ลุ่มน้ำ 1 เอ ซึ่งจะต้องทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ซึ่งสถาบันฯ ได้ดำเนินการจัดจ้างให้บริษัท ธารา คอนซัลแตนท์ จำกัด เป็นผู้ดำเนินการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการหอดูดาวแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติ และได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านการพัฒนา โครงการของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือโครงการร่วมกับเอกชนในการประชุมครั้งที่ 3/2553 เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2553 และได้นำเสนอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติพิจาณาให้ความเห็นชอบในการประชุมครั้งที่ 2 / 2553 เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2553 คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติได้พิจารณาแล้ว จึงมีมติเห็นชอบกับรายงานฉบับดังกล่าว และสถาบันฯ โดยกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้ขอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติผ่อนผันยกเว้นมติคณะรัฐมนตรีในการใช้พื้นที่ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำชั้น 1 เอ ในเขตอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ เพื่อก่อสร้างหอดูดาวแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2546 ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้ประชุมเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2553 มีมติอนุมัติตามที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเสนอ
วัตถุประสงค์
4.1 เพื่อเป็นศูนย์กลางการวิจัย วิชาการและการบริการข้อมูลทางด้านดาราศาสตร์
4.2 เพื่อเป็นเครือข่ายของหอดูดาวูทั้งในประเทศและต่างประเทศ
กิจกรรมและแผนการดำเนินงาน
แผนการก่อสร้าง จะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาประมาณ 12 เดือน
แผนการก่อสร้างและติดตั้งกล้อง ขนาด 2.4 เมตร
1.งานปรับสภาพพื้นที่และงานฐานราก เนื่องจากพื้นที่ก่อสร้างหอดูดาว และอาคาประกอบ ต้องปรับสภาพพื้นที่บางส่วนก่อนเริ่มดำเนินงานก่อสร้างฐานราก โดยในการก่อสร้างฐานรากรองรับโครงสร้างหอดูดาวและอาคารประกอบ จะใช้เสาเข็มเจาะแบบเปียก เนื่องจากต้องรองรับน้ำหนักส่วนที่จะติดตั้งกล้องโทรทัศน์ขนาดใหญ่ เส้นผ่าศูนย์กลาง 2.40 เมตร และยังสามารถลดแรงสั่นสะเทือนจากขั้นตอนการทำเสาเข็ม เมื่อเทียบกับการก่อสร้างที่ใช้เสาเข็มแบบตอก โดยจะใช้เวลาประมาณ 2 เดือน
2.งานโครงสร้าง งานโครงการอาคารประกอบจะเป็นงานก่อสร้างโครงสร้างอาคารในส่วนที่เป็นห้องทำงาน และในส่วนของงานก่อสร้างโครงสร้างอาคารหอดูดาวรูปทรงกลมจะเป็นชิ้นส่วนสำเร็จที่ได้จัดทำจากภายนอก และนำเข้ามาประกอบในพื้นที่ก่อสร้างภายหลังจากงานก่อสร้างฐานรากเสร็จเรียบร้อย งานส่วนนี้จะใช้ระยะเวลาไม่เกิน 8 เดือน
3.งานระบบสาธารณูปโภค ภายในและนอกอาคาร เช่นระบบน้ำดี ระบบบำบัดน้ำเสีย ระบบป้องกันอัคคีภัย ระบบเครื่องปรับสภาพอากาศ ระบบระบายอากาศ ระบบโทรศัพท์ และระบบไฟฟ้า ฯลฯ งานส่วนนี้จะใช้ระยะเวลาประมาณ 4 เดือน
4.งานตกแต่งภายนอกและภายใน จะเริ่มดำเนินจากการตกแต่งภายในอาคาร เช่น งานปูพื้นห้อง งานปูผนัง งานฝ้าเพดาน งานติดตั้งประตู/หน้าต่าง งานทาสีภายใน ฯลฯ จากนั้นจะเริ่มดำเนินการตกแต่งภายนอกอาคาร เช่น งานทาสี งานติดตั้งรางรองน้ำฝน งานถนน งานระบบระบายน้ำ และงานจัด/ตกแต่งสวนหย่อม ฯลฯ งานส่วนนี้จะใช้ระยะเวลาประมาณ 4 เดือน
5.งานเก็บทำความสะอาดภายในและนอก จะเริ่มดำเนินการจัดเก็บสถานที่และล้างทำความสะอาดพื้นที่ งานจัดเก็บวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ งานจำกัดเศษวัสดุและอุปกรณ์ก่อสร้าง และงานเก็บขนขยะมูลฝอยต่างๆ ฯลฯ โดยจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่งานจะใกล้แล้วเสร็จ ไปจนกว่าจะแล้วเสร็จสมบูรณ์ งานส่วนนี้จะใช้ระยะเวลาประมาณ 1 เดือน
ผลการดำเนินงานก่อสร้างโครงการ ณ วันที่ 20 ธันวาคม 2553
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ได้ว่าจ้างให้ผู้รับจ้างก่อสร้าง (บริษัท แคปปิตัล มารีนไฟเบอร์กล๊าส จำกัด) ดำเนินการก่อสร้างหอดูดาวแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯ โดยผู้รับจ้างได้ดำเนินการก่อสร้างไปแล้ว 120 วัน (นับถึงวันที่ 20 ธันวาคม 2553) โดยมีระยะเวลาการก่อสร้างรวมทั้งสิ้น 400 วัน แล้วเสร็จประมาณ 38.80 % ซึ่งเร็วกว่าแผนงาน 0.2% ตามรายละเอียดดังต่อไปนี้
งบประมาณ
งบประมาณในการก่อสร้าง
ปีงบประมาณ 2552 17,600,000.- บาท
ปีงบประมาณ 2553 13,998,000.- บาท
ปีงบประมาณ 2554 7,902,000.- บาท
รวมงบประมาณทั้งสิ้น 39,500,000.- บาท
พื้นที่ดำเนินงาน
สถาบันฯ จึงได้ดำเนินโครงการก่อสร้างหอดูดาวแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติและติดตั้งกล้องโทรทรรศน์ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2.4 เมตร ณ สถานีทวนสัญญาณ ทีโอที (กม.44.4) อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนนท์ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งมีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 2,457 เมตร พิกัดที่ 18? 34’ 21’’ N และ 98? 29’ 07’’E
ระยะเวลาดำเนินงาน
คาดว่าจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาประมาณ 12 เดือน
ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
1. หอดูดาวแห่งชาติจะเป็นศูนย์กลางการวิจัยและวิชาการทางดาราศาสตร์ของชาติที่จะให้การบริการข้อมูลทางดาราศาสตร์แก่ประชาชนทั่วประเทศ
2. หอดูดาวแห่งชาติสามารถเชื่อมโยงเครือข่ายผ่านระบบสารสนเทศหอดูดาวภูมิภาค 6 แห่งทั่วประเทศและศูนย์เรียนรู้ทางดาราศาสตร์ต่างๆ เช่น มหาวิทยาลัย โรงเรียนวังไกลกังวล ศูนย์การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา เป็นต้น
3. หอดูดาวแห่งชาติสามารถเชื่อมโยงกับหอดูดาวทั่วโลกเพื่อพัฒนางานทางด้านการวิจัยและวิชาการทางดาราศาสตร์ของไทยร่วมกับนานาประเทศ
ผู้รับผิดชอบ
น.ส. กลอยใจ ไชยมหาวัน เจ้าหน้าที่วิเคราะห์นโยบายและแผน
ฝ่ายยุทธศาสตร์และงบประมาณ 053-225571 ต่อ 20 หรือ 086-5868341
โทรสาร 053-225524 e-mail : gloyjai@narit.or.th
หน่วยงานรับผิดชอบ : |
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) |
(เชียงใหม่) อาคารศิริพานิช ชั้น2 เลขที่191 ถนนห้วยแก้ว | |
ต.สุเทพ อ.เมือง จังหวัดเชียงใหม่ 50200 | |
โทรศัพท์ 0-5322-5569 | |
โทรสาร 0-5322-5524 | |
(กรุงเทพฯ) สำนักงานประสานงาน | |
ชั้น 2 สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี | |
ถนนพระราม 6 เขตราชเทวี กทม. 10400 | |
โทรศัพท์ 0-2354-6652 | |
โทรสาร 0-2354-7013 | |
เว็บไซต์ : โครงการหอดูดาวแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ |